เกี่ยวกับ

Faculty of Agriculture, Chiang Mai University

คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

         ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่มาจากโครงการ “เกษตรกรปราดเปรื่อง รุ่นเยาว์ (Young Smart Farmer หรือ YSF) ของกรมส่งเสริมการเกษตร โครงการ “คนกล้าคืนถิ่น” มูลนิธิส่งเสริม การออกแบบอนาคตประเทศไทย (Scenario Thailand Foundation) และเกษตรรุ่นใหม่กลุ่มอื่น ๆ ซึ่งมีสมาชิก รวมกันประมาณ 200 กว่าคน และได้มีการรวมกลุ่มกัน เพื่อช่วยเหลือกันในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการลงมือปฏิบัติ ด้านการเผยแพร่องค์ความรู้ และด้านการตลาด อีกทั้งยังช่วยกันขับเคลื่อนงานภาคการเกษตรของจังหวัดเชียงใหม่ ให้ทันต่อยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แผนพัฒนาจังหวัดฯ โดยที่ผ่านมามีการทำกิจกรรม ร่วมกันมาแล้ว เช่น งานออกบูทแสดงสินค้า การจัดอบรมต่างๆ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การลงมือทำและ เผยแพร่องค์ความรู้ งานเสวนา และการเยี่ยมเยือนฟาร์มซึ่งกันและกันในเครือข่าย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ด้านการเกษตรร่วมกัน และสามารถเพิ่มโอกาสในการขยายช่องทางการตลาดให้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่นั้น
         ด้วยเหตุนี้ ทางเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการทำงาน เป็นเครือข่าย จึงได้มีแนวคิดร่วมกันที่จะหาวิธีการสร้างรูปแบบการขับเคลื่อนและกระบวนการทำงานของเครือข่าย เกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อที่จะสามารถสร้างนิเวศใหม่ของเกษตรกรที่ยั่งยืนได้ ซึ่งนิเวศใหม่นี้จะส่งผลทำให้ เกิดความเข็มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามบริบทของแต่ละพื้นที่เนื่องจากการเกษตรยุคใหม่ การทำงานเป็นเครือข่ายถือได้ว่ามีบทบาทในทุก ๆ ส่วนของภาคการเกษตร หากมีเครือข่ายที่เข้มแข็งและสามารถ ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะส่งผลให้ภาคการเกษตรมีการขับเคลื่อนที่รวดเร็วและยั่งยืนได้ โครงการ “การสร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรรุ่นใหม่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อการสร้างนิเวศใหม่ของเกษตรกรที่ยั่งยืน บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” จึงดำเนินงานผ่านเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เป็นแกนนำเครือข่าย 22 คน ซึ่งมีการศึกษาวิเคราะห์ทุน 5 ด้าน (มนุษย์ สังคม การเงิน กายภาพ และธรรมชาติ) ที่จะเป็นต้นแบบในการสร้างหรือ ดึงคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถให้เข้ามาอยู่ในภาคการเกษตรให้มากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย และเพื่อให้พัฒนา ภาคเกษตรทั้งในระดับชุมชนและระดับจังหวัดดำเนินไปอย่างยั่งยืน โครงการ “การพัฒนาศักยภาพ Young Smart Farmers ในจังหวัดเชียงใหม่” จึงมีบทบาทในการขับเคลื่อนพัฒนาศักยภาพการทำการเกษตร ของเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสม โดยการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการ ที่จะมีส่วน ช่วยยกระดับการผลิตของเกษตรกรรุ่นใหม่ให้ดียิ่งขึ้น โดยการจัดการอบรมที่มีความจำเพาะต่อศักยภาพและ ความต้องการของตัวเกษตรกรเอง และสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ไปยังเกษตรกรเครือข่ายรายอื่น ๆ ได้
         ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเกษตรร่วมกัน ตามนโยบายการพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สู่ยุคประเทศไทย 4.0 นั้น การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นกลไก ผลักดันทั้งภาคการผลิตและการตลาดของสินค้าเกษตร จึงมีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการพัฒนาด้านระบบมาตรฐาน สินค้าเกษตรให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โครงการ “การพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรรุ่นใหม่รายบุคคลและเครือข่าย ในจังหวัดเชียงใหม่” จึงได้จัดทำฐานข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อให้เกษตรกรรุ่นใหม่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลภายในกลุ่ม และเครือข่ายได้ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภค ภาครัฐ และ ภาคเอกชน สามารถตรวจสอบย้อนกลับผลิตผลทางการเกษตรแต่ละชนิดได้ตั้งแต่แหล่งผลิตต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค ผ่านการเชื่อมโยงทางระบบ QR Code โดยมุ่งหวังที่จะทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อผลิตผลทางการเกษตร ทั้งในด้านคุณภาพและความปลอดภัยต่อภาคการเกษตรไทย


ภายใต้การดำเนินงานเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดเชียงใหม่
- โครงการการสร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรรุ่นใหม่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อการสร้างนิเวศใหม่ของเกษตรกรที่ยั่งยืน บนพื้นฐานหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดย ผศ.ดร.บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล นายพรรษวุฒิ รุ่งรัศมี และคณะทำงานฯ
- โครงการการพัฒนาศักยภาพ Young Smart Farmers ในจังหวัดเชียงใหม่ โดย อ. ดร. สุกิจ กันจินะ นายธีรวัฒน์ เสื้อมา และ คณะทำงานฯ
- โครงการการพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรรุ่นใหม่รายบุคคลและเครือข่ายในจังหวัดเชียงใหม่ โดย ผศ.ดร. ชาญชัย แสงชโยสวัสดิ์
นายภูริช สิงห์ฆะราช และคณะทำงานฯ
สนับสนุนโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

หน่วยตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร

Agricultural Product Traceability Unit

ความหมายของระบบตรวจสอบย้อนกลับ

เป็นกระบวนการทวนสอบขั้นตอนการปฏิบัติในการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตร ตั้งแต่การผลิตในระดับไร่นา การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูป และการจัดจำหน่ายจนถึงมือผู้บริโภค เพื่อควบคุมคุณภาพและ ความปลอดภัยของสินค้าและผลิตภัณฑ์ สามารถเรียกทวนสอบย้อนกลับข้อมูลในแต่ละขั้นตอนตลอดห่วงโซ่การผลิตและสามารถเรียกคืนสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้หากมีข้อบกพร่องเกิดขึ้น

ลักษณะสำคัญของระบบตรวจสอบย้อนกลับ

ระบบตรวจสอบย้อนกลับ เป็นระบบซอฟต์แวร์ตรวจสอบย้อนกลับทางอินเทอร์เน็ตผ่านตัวเชื่อมโยง คือ คิวอาร์โค้ด (QR Code) ของสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดภัย เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรในระดับประเทศและมุ่งหวังไปสู่ระดับสากล โดยเน้นเพิ่มความสะดวกสบายในการรับรู้ของผู้บริโภคแบบ end-to-end เป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรของเกษตรกรไทย ให้สามารถขยายโอกาสด้านตลาดของอาหารไทยสู่ทั่วโลก

ตราสัญลักษณ์ของหน่วยตรวจสอบย้อนกลับ


คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานหน่วยตรวจสอบย้อนกลับ

ตราดอกสัก

เป็นดอกสัก ต้นไม้ที่มีค่าแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของภาคเหนือ

สัญลักษณ์ QR CODE

เป็นตัวกลางการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค

Agricultural Product Traceability Unit

หน่วยตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร

ความสำคัญของหน่วยตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร

ตามที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินงานภายใต้โครงการศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าและกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตามแผนนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ Thailand 4.0 มุ่งผลักดันและใช้มาตรการด้านกฎหมาย ส่งเสริมให้มีการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยมีการตื่นตัวในการจัดทำข้อมูล เพื่อให้สินค้าและผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน

พันธกิจของหน่วยตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร

    1. ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรให้กับเกษตรกร
    2. ยกระดับการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรสู่การผลิตที่ได้มาตรฐานเพื่อสนับสนุนความต้องการด้านอาหาร
    3. พัฒนาส่งเสริมสินค้า ผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดภัย ตลอดจนห่วงโซ่การผลิตและการตลาดในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน
    4. รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจในคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยให้กับผู้บริโภค

เป้าหมายการให้บริการของหน่วยตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร

    1. เป็นศูนย์กลางด้านการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรระหว่างเกษตรกร ผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    2. เป็นศูนย์กลางการให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตร และอาหารปลอดภัย